วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

รักแห่งสยาม : ภาพยนตร์แห่งการเรียน(รู้)รัก

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าเหตุใดผมถึงขึ้นชื่อหัวเรื่องวันนี้ในคอลัมน์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เมื่อพูดถึงการศึกษาเรียนรู้ คนเรามักจะเชื่อมโยงกับตำรา หนังสือเรียน โรงเรียน มหาวิทยาลัย แต่จริงๆแล้วสิ่งที่อยู่รอบตัวเราหลายๆ อย่างสามารถแสดงบทบาทเป็นครูให้กับเราได้เช่นกัน รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม
ถ้าดูจากวิธีการโปรโมตในภาษาด้านภาพยนตร์เรียกว่า “หน้าหนัง” น่าจะเป็นเรื่องของความรักระหว่างวัยรุ่นธรรมดาทั่วไป แต่หลังจากไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วมีอะไรมากกว่านั้นมาก หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของความรักหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็น ความรักระหว่างพ่อกับแม่ ในมุมมองของการเสียสละ ใส่ใจ ดูแลคนที่รัก ความรักระหว่างพ่อกับลูกที่ทนไม่ได้กับการสูญเสียลูกอันเป็นที่รักไป แต่ก็ยังมีความหวัง เหมือนที่เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้บอกไว้ว่า “เมื่อมีความรักก็ย่อมมีความหวัง” ความรักระหว่างแม่กับลูก ที่พยายามทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ตัวเองสูญเสียทุกสิ่งที่รักไปด้วยการเคี่ยวเข็ญ วางกรอบให้กับลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคงคุ้นเคยกันดีในสังคมไทยที่พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนทำให้เกิดความรักแบบอึดอัดใจ แต่อย่างน้อยที่สุดบรรยากาศของหนังก็มีการคลายปมระดับหนึ่งที่จะให้ลูกเลือกทางที่ดีที่สุดของตัวเอง ความรักระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ในหนังเรื่องนี้ถ่ายทอดความรักของเพื่อนกับเพื่อนใน 2 มิติ คือ มิติที่ 1 เพื่อนที่เมื่อเห็นเพื่อนมีความทุกข์ก็จะเข้าใจและเป็นห่วงต่อกัน แม้จะขัดแย้งกันบ้างในบางเวลาท้ายที่สุดก็ลงตัวด้วยคำว่า “เพื่อน” นี่แหละ ในขณะเดียวกันอีกมิติหนึ่งก็คือ เพื่อนที่เมื่อเข้าสู่ภาวะเหงา ทุกข์ เศร้า ก็จะค้นพบทางออกด้วยการชวนกันไปเฮฮา สนุกสนาน กินเหล้าเมายา นั่นเป็นภาพวัยรุ่นที่เราๆอาจจะเห็นอยู่ในความจริงของโลกปัจจุบัน จนอาจสรุปได้ว่าความเหงา เศร้า ทุกข์ อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการอยู่กับเพื่อนที่เข้าใจกันและมีดนตรีเป็นเพื่อนคลายเหงามากกว่าการกินเหล้าเมายาเพื่อคลายทุกข์
และแน่นอนว่า หนังเรื่องนี้ก็ย่อมมี ความรักระหว่างชายกับหญิง ซึ่งถ่ายทอดออกมาในมิติที่ 1 ก็คือระหว่างผู้ชายที่ไม่ค่อยมั่นใจในความรักและอาจให้คำตอบอะไรไม่ได้เกี่ยวกับความรัก และผู้หญิงที่เร่งรัดคำตอบแบบฟันธงจากผู้ชายว่ารู้สึกอย่างไรกับตัวเองซึ่งสะท้อนความรักแบบการครอบครองผ่านวัยรุ่นชายหญิงคู่นี้ ในอีกมิติหนึ่งก็คือระหว่างผู้ชายที่ไม่เคยมีความรัก แต่ในท้ายที่สุดฝ่ายหญิงก็ค้นพบความจริงว่าผู้ชายคนนั้นไม่สามารถเป็นแฟนได้ แต่ผู้หญิงคนนี้ก็เป็นตัวแทนของผู้หญิงวัยรุ่นหลายๆคนที่ว่า พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปด้วยใจที่มีความหวัง
สิ่งที่ฮือฮาที่สุดระหว่างที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็น่าจะเป็น ความรักระหว่างเพื่อนที่เป็นผู้ชายกับผู้ชายด้วยกัน จนหลายคนประทับตราหนังเรื่องนี้ว่า เป็นหนังเกย์ ไปเรียบร้อย ลูกศิษย์ของผมบางคนแสดงความเห็นออกมาด้วยซ้ำว่า “ไม่ดูหรอก หนังเกย์ ยี้” แต่ถ้าใครดูหนังเรื่องนี้โดยการนำแกนของความรักเป็นตัวตั้ง คุณจะเห็นมิติที่มากกว่าความรักระหว่างชายกับชาย และผมเชื่อเหมือนอาจารย์พีรชัย เกิดสินธุ์ หัวหน้าภาควิชาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่บอกว่า “การดูหนังเรื่องนี้คงไม่ได้ทำให้ต่อมความแมนคุณลดลงอย่างแน่นอน”
หนังเรื่องนี้ไม่ได้ถ่ายทอดทุกอย่างแบบเฉลยจนหมดตามสูตรละครไทยน้ำเน่าหลายๆ เรื่อง ที่ทุกคนต้องสมหวัง แต่เมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ผมเกิดประเด็นให้คิดต่อได้มากมาย เช่น ถ้าคุณเป็นพ่อและแม่ของลูกควรจะหาเวลาไปดูหนังเรื่องนี้นะครับแล้วคุณจะได้บทเรียนของความรักที่ว่า เราจะสร้างกรอบ ทิศทางการเดินให้กับลูกดีหรือไม่ ถ้าคุณเป็นสามีและภรรยากันจะมีทางออกลดความเปราะบาง เพิ่มความแข็งแรงให้กับคู่ของคุณอย่างไร (ฉาก ไข่พะโล้กับข้าวแข็งๆ เย็นชืด มันบอกอะไรมากเหลือเกินครับ) ถ้าคุณเป็นแม่ และพบความจริงบางประการว่าลูกชายของเรามีความรักกับเพื่อนผู้ชายด้วยกัน คุณจะช็อคและเตรียมรับมืออย่างไร คุณจะเป็นแม่ในแบบรักแห่งสยามหรือคุณจะเป็นแม่ในแบบของคุณ ถ้าคุณเป็นครู อาจารย์หรือผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ต้องคลุกคลีกับวัยรุ่นแห่งสยาม ผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้บอกอะไรบางอย่างที่ผมไม่สามารถถ่ายทอดในบทความนี้ได้
ระหว่างที่ดูและหลังจากหนังเรื่องนี้จบลง ผมเกิดความรู้สึกขึ้นมากมายครับ ทั้งสุข เศร้า เหงา(แบบบอกไม่ถูก) รัก อมยิ้ม หัวเราะ และอยากจะบอกให้คนอื่นได้รับประสบการณ์ดีๆจากหนังเรื่องนี้ด้วย เรียกได้ว่าทั้งมีความสุขที่ได้กลับมาดูหนังในโรงภาพยนตร์อีกครั้งหลังจากหมกมุ่นกับงานมาตลอดเวลาเกือบปี (เพราะในระยะหลังมีแต่หนังผีสิงอยู่ในโรงภาพยนตร์มากเหลือเกิน) แล้วหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังเลย สุขที่ได้เห็นเรื่องราวความรักครบรส เศร้ากับการสูญเสียลูกแต่ก็ทำให้การเรียนรู้ว่า “คนเราต้องสู้ต่อไป” ได้อมยิ้มและหัวเราะกับบรรยากาศของการมีเพื่อนที่เข้าใจ สุขที่ได้เห็นความลงตัวของตัวละครทุกตัวที่ทำหน้าที่บนแผ่นฟิล์มได้อย่างเต็มที่ทั้งนักแสดงคุณภาพอย่างคุณสินจัย ถ่ายทอดความเป็นแม่ผ่านสีหน้า อารมณ์ และความรู้สึกจนผมเชื่อจริงๆ และถ้าใครชมเรื่องนี้ออกจากโรงภาพยนตร์อาจจะต้องกลับไปถามคุณแม่ว่า “เหนื่อยมั๊ยแม่” คุณทรงสิทธิ์ แสดงบทพ่อผู้ต้องรับกับการสูญเสียลูกได้ดีมาก คุณพิมพ์พรรณ บูรณะพิมพ์ กับบทอาม่า ที่ออกมาไม่กี่นาทีในหนังเรื่องนี้แต่แสดงได้มีพลังเหลือเกินและเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ดนตรีเป็นสื่อในการคุยกับหลานและในที่สุดหลานก็ได้ใช้ประโยชน์จากดนตรีในการบอกรักกับคนอื่นๆต่อไป และที่มีความน่าชื่นชมไม่น้อยเลยสำหรับนักแสดงรุ่นใหม่อย่าง วิชญ์วิสิฐ ผู้รับบทมิว ที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกเหงา เศร้า และสุขในฉากสุดท้ายได้อย่างดีเยี่ยมครับ รวมถึง กัญญา ผู้รับบท หญิง ที่สะท้อนอารมณ์ต่างๆออกมาทำให้ผมเห็นพัฒนาการของตัวละครได้ชัดเจน และที่จะขาดไม่ได้ก็คือผู้กำกับ คุณมะเดี่ยว- ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่ถ่ายทอดความโรแมนติก ดราม่า ออกมาได้อย่างกลมกลืนและลึกซึ้งเหลือเกิน
“ขอบคุณนะ” ที่ทำให้ผมได้ชมภาพยนตร์ดีๆ ส่งท้ายปลายปีนี้
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน)

ไม่มีความคิดเห็น: